วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556
0 ความคิดเห็น

5 เรื่องร้าย By มอนซานโต

08:13
เหตุผล 5 ประการว่าทำไมมอนซานโตจึงถูกต่อต้าน

1. กอบโกยจากสารเคมีเป็นพิษในนามของธุรกิจด้านการเกษตร
ในปฏิบัติการ Ranch Hand ระหว่างสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐใช้ยุทธวิธีโจมตีด้วยสารเคมี พวกเขาใช้สารกำจัดวัชพืชชนิดรุนแรงและฝนเหลือง (Agent Orange)  เป็นอาวุธเคมีซึ่งเป็นเหตุให้ผู้คน 400,000 คนต้องพิการ (จากการประมาณตัวเลขของรัฐบาลเวียดนาม) และทำให้เด็กแรกเกิด 500,000 คนพิการแต่กำเนิด โดยเบื้องหลังปฏิบัติการครั้งนี้คือบริษัทมอนซานโต
บริษัทมอนซานโตเริ่มต้นกิจการด้วยการเป็นผู้ผลิตสารเคมีตั้งแต่ปี 1901 และเป็นต้นตอของสารเคมีอันตรายร้ายแรงหลายชนิดในประวัติศาสตร์อเมริกา เช่น สารโพลีคลอริเนตเต็ดไบฟีนิล (PCB’s) และสารไดออกซิน กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคชื่อว่า Food and Water Watch (FWW) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับบทบาทของมอนซานโตในการผลิตฝนเหลือง ซึ่งถือเป็นพิบัติภัยจากสารเคมี รวมไปถึงการสร้างเซลล์ตัดแต่งทางพันธุกรรมเป็นครั้งแรก
ในอดีต กิจการส่วนใหญ่ของบริษัทพัวพันอยู่กับเรื่องการผลิตสารเคมีอันตรายและเป็นผู้จัดเตรียมฝนเหลืองให้กับกองทัพในสงครามเวียดนามตั้งแต่ 1962 – 1971 บริษัทยังเป็นผู้ริเริ่มจำหน่ายขัณฑสกรให้กับบริษัทโคคาโคลา มีการตัดแต่งพันธุกรรมเมล็ดพันธุ์พืชหลายชนิดเพื่อให้ต้านทานต่อสารกำจัดศัตรูพืชที่บริษัทเป็นผู้ผลิตเอง จนในที่สุดมอนซานโตก็เข้ามาคลุกคลีกับอุตสาหกรรมจำหน่ายอาหารอย่างเต็มที่
โรงงานแห่งหนึ่งของมอนซานโตที่ผลิตสาร PCBs ก่อนที่จะโดนระงับในปี 1976 สารดังกล่าวมีฤทธิ์ก่อมะเร็งและเป็นอันตรายต่อระบบอวัยวะ แต่กระนั้นพวกเขายังทิ้งน้ำเสียจากการผลิตลงในแหล่งน้ำอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งสารเหล่านี้ก็ไปสะสมอยู่ในต้นไม้ พืชไร่ ปลา และสัตว์น้ำอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ในห่วงโซ่อาหารที่มนุษย์ร่วมอยู่ด้วย
ในปี 2004 เกษตรกรรายหนึ่งในฝรั่งเศสมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทหลังจากสูดดมยากำจัดวัชพืช อาการเหล่านี้ ได้แก่ สูญเสียความทรงจำ ปวดหัว และติดอ่าง ศาลฝรั่งเศสจึงตัดสินให้บริษัทมอนซานโตมีความผิด อีกทั้งตำหนิที่ไม่มีการระบุคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์




2. ผูกขาดอุตสาหกรรมการเกษตรไว้แต่เพียงผู้เดียว
แก่นสารของความเป็นอเมริกันคือวิถีชีวิตของชาวนาชาวไร่ แต่มอนซานโตกลับเดินหน้าฟ้องร้องเกษตรกรรายย่อยเพื่อให้พวกเขไม่สามารถประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้
ครั้งหนึ่งเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในเมืองเวอร์นอน รัฐอินเดียนนา ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 85,000 ดอลลาร์โดยบริษัทมอนซานโต เพราะเขานำเอาเมล็ดพันธุ์ตัดแต่งพันธุกรรมรุ่นที่สองไปปลูกซ้ำ ซึ่งการกระทำดังกล่าวศาลถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของบริษัทมอนซานโต เพราะสิทธิบัตรดังกล่าวครอบคลุมไปถึงเมล็ดที่เกิดขึ้นใหม่จากพืชที่ปลูกด้วย
ขณะที่บริษัทประกาศผลกำไรมหาศาลจากธุรกิจของตน อเมริกันชนผู้เป็นหนี้ก็ร้องเรียนต่อรัฐในกรณีการฟ้องร้องลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป เนื่องจากในฟาร์มของพวกเขาเต็มไปด้วยพืชพันธุ์จากเมล็ดของมอนซานโต ปลายปี 2012 ผลกำไรรวมของบริษัทสูงถึง 2.94 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขเกือบ 2 เท่าของที่คาดการณ์กันไว้
สำนักข่าวอัลจาซีราเคยตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้ายของบริษัทมอนซานโต เพื่อควบคุมอุตสาหกรรมการเกษตรของสหรัฐทั้งระบบ พวกเขาบีบให้เกษตรกรดั้งเดิมต้องล่าถอยเพราะไม่อาจแข่งขันในตลาดได้ นอกจากนี้ยังบังคับให้ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์งดจำหน่ายสินค้าที่เป็นคู่แข่งของบริษัทด้วย
มอนซานโตพยายามมีอำนาจเหนืออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ โดยเริ่มกว้านซื้อกิจการเจ้าอื่นๆ มาตั้งแต่ปี 1982 เช่น บริษัทเมล็ดถั่วเหลือง Asgrow บริษัทเมล็ดฝ้าย Delta and Pine Land บริษัทเมล็ดข้าวโพด DeKalb เป็นต้น ซึ่งทางการสหรัฐก็ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดอย่างจริงจัง การกระทำดังกล่าวจึงดำเนินไปโดยง่าย

3. ควบคุมอุตสาหกรรมอาหาร กีดกันการเข้าถึงแหล่งน้ำ
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาได้ประมาณการไว้ว่า ก่อนปี 2030 ประชากรครึ่งหนึ่งของโลกจะตกอยู่ในพื้นที่ภาวะตึงเครียดด้านแหล่งน้ำ เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆ อย่างมอนซานโตจะพยายามเข้าครอบครองแหล่งน้ำสาธารณะแล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นเอกสิทธิ์ของตน
นอกจากนี้ภายในปี 2025 ประชากรโลกจะทะยานจนเกิน 8 พันล้านคน และความต้องการใช้น้ำจะล้นเกินกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ถึงร้อยละ 40 เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรดังกล่าวทำให้มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 6,900 พันล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะนี้บริษัทเอกชนครอบครองน้ำแหล่งน้ำบริสุทธ์ไปถึงร้อยละ 5 ของโลก พวกเขายังซื้อสิทธิ์ในน้ำใต้ดินและชั้นหินอุ้มน้ำไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังปล่อยสารเคมีเป็นพิษลงสู่แหล่งน้ำทั่วโลก เพราะมองเห็นช่องทางทำกำไรจากการบำบัดน้ำเน่าเหล่านั้นแล้วขายคืนให้กับประชาชนทั่วไป


4. ครอบงำ FDA และตั้งกฎหมายเพื่อปกป้องตนเอง
บรรดาอดีตผู้บริหารมอนซานโตต่างตบเท้าเข้าไปเป็นผู้ดำเนินงานขององค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักในการดูแลความปลอดภัยด้านอาหารให้กับสาธารณชน
ความขัดกันด้านผลประโยชน์ดังกล่าวแสดงออกผ่านความเพิกเฉยของรัฐบาลที่ไม่มีการผลักดันการวิจัยเพื่อศึกษาผลกระทบระยะยาวจากผลิตภัณฑ์ตัดแต่งพันธุกรรม อีกทั้งรัฐสภาก็ยังอนุมัติกฎหมาย พระราชบัญญัติ คุ้มครองมอนซานโตเพื่อป้องกันไม่ให้ศาลสั่งห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์เมล็ดตัดแต่งพันธุกรรม
นอกจากนี้ก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ออกมาเพื่อรองรับกิจการองมอนซานโต เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้กฎหมายมาขัดขวางการจำหน่ายพืชจีเอ็มโอของพวกเขา
5. ก่อหายนะให้สิ่งแวดล้อมอย่างไม่หยุดยั้ง
ทั้งมอนซานโตและกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดฮวบของประชากรผึ้งในสหรัฐและประเทศอื่นๆ ไม่เพียงเท่านั้นมอนซานโตยังก่อมลพิษให้กับเขตข้างเคียงโรงงาน
มอนซานโตมักโฆษณาตนเองว่าเป็นทางเลือกทางการเกษตรที่ยั่งยืนแต่แท้จริงแล้วผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชยิ่งทำให้บรรดาศัตรูพืชอย่างวัชพืชและแมลงมีความต้านทานมากขึ้น และนั่นทำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างยากลำบากยิ่งกว่าเดิม
ยังมีผลกระทบอื่นๆ จากมอนซานโต เช่น เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้คน เกิดการแพร่ระบาดของพันธุกรรมตัดแต่งไปสู่พืชดั้งเดิม และนโยบายของมอนซานโตที่ให้ความสำคัญกับพืชไม่กี่ชนิดยังเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Labels

Blogger news

Followers

 
Toggle Footer
Top